คนงานติดตั้งลวดอัดแรงเพื่อการทำคอนกรีตอัดแรงก่อน
May 19, 2025

รู้จักคอนกรีตอัดแรงมีกี่ประเภท ? พร้อมประโยชน์ต่อการก่อสร้าง

สำหรับงานก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องการความรวดเร็ว แข็งแรง ทนทาน และรองรับน้ำหนักได้มาก อีกทั้งต้องการให้โครงการมีน้ำหนัก Dead Load เบาขึ้น จำเป็นต้องนำคอนกรีตอัดแรง (Prestressed Concrete) มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการก่อสร้าง โดยคอนกรีตชนิดนี้ออกแบบมาเป็นพิเศษ โดยให้มีการเสริมแรงก่อนรับน้ำหนักจริง ทำให้สามารถรับแรงได้มากขึ้น และช่วยลดปัญหาการแตกร้าวหรือโค้งงอของโครงสร้าง

สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือผู้ที่กำลังวางแผนโครงการที่ต้องใช้คอนกรีตอัดแรง ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และประเภทคอนกรีตชนิดนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คอนกรีตอัดแรงคืออะไร ?

คอนกรีตอัดแรง คือ คอนกรีตที่มีการเสริมแรงโดยใช้เหล็กแรงดึงสูง เช่น PC Wire หรือ PC Strand ก่อนที่คอนกรีตจะรับน้ำหนักจริง จุดเด่นของคอนกรีตชนิดนี้คือการสร้างแรงอัดภายในเพื่อให้โครงสร้างสามารถรับแรงดึง แรงบิด และแรงกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสการเกิดรอยแตกร้าวหรือการแอ่นตัวเมื่อเทียบกับคอนกรีตเสริมเหล็ก (Reinforcement Concrete) ทั่วไป

 

คอนกรีตอัดแรงมีกี่ประเภท ?

คอนกรีตอัดแรงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ตามกระบวนการทำคอนกรีตอัดแรง ได้แก่

 

คอนกรีตอัดแรงก่อน (Pre-Tensioned Concrete)

คอนกรีตประเภทอัดแรงก่อน มีขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ ดังนี้

  1. ออกแบบและคำนวณแรงอัดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละชิ้นงาน
  2. ติดตั้งลวดอัดแรงและยึดไว้ที่ปลายทั้งสองด้านของแบบหล่อ
  3. ลวดเหล่านี้จะถูกดึงให้ตึงด้วยแรงดึงที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และถูกยึดไว้ที่ปลายทั้งสองข้าง
  4. เทคอนกรีตลงในแบบหล่อที่มีลวดอัดแรงอยู่ภายใน
  5. รอให้คอนกรีตแข็งตัวและมีกำลังรับแรงอัดตามที่ต้องการ
  6. ตัดลวดอัดแรงที่ปลายทั้งสองด้าน แรงดึงในลวดจะถูกถ่ายไปยังคอนกรีตและทำให้เกิดแรงอัดในคอนกรีต

วิธีนี้เหมาะสำหรับการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปในโรงงาน เช่น เสาเข็ม แผ่นพื้น และคานรูปตัวไอ เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีและมีประสิทธิภาพในการผลิตจำนวนมาก

 

คอนกรีตอัดแรงหลัง (Post-Tensioned Concrete)

ส่วนขั้นตอนการผลิตของคอนกรีตประเภทอัดแรงหลัง มีดังนี้

  1. ออกแบบและคำนวณแรงอัดที่ต้องการ
  2. ติดตั้งท่อร้อยลวด (Duct) พร้อมลวดอัดแรง ในตำแหน่งที่ต้องการให้เกิดแรงอัด
  3. เทคอนกรีตและรอให้แข็งตัวจนมีกำลังรับแรงอัดตามที่กำหนด
  4. สอดลวดอัดแรงผ่านท่อร้อยลวด
  5. ดึงลวดอัดแรงด้วยแรงดึงที่กำหนดและยึดไว้ที่ปลายทั้งสองด้าน
  6. อัดน้ำปูนเข้าไปในท่อร้อยลวด เพื่อป้องกันการกัดกร่อนและช่วยกระจายแรงอัด

วิธีนี้เหมาะสำหรับงานก่อสร้างในสถานที่จริง เช่น สะพาน อาคารสูง พื้นอาคารขนาดใหญ่ หรือโครงสร้างที่มีรูปทรงซับซ้อน เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการออกแบบและสามารถกำหนดแรงอัดได้ตามต้องการ

คอนกรีตอัดแรงคือคอนกรีตที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้าง

คอนกรีตอัดแรงมีประโยชน์ต่อการก่อสร้างอย่างไร ?

การนำคอนกรีตอัดแรงมาใช้ในการก่อสร้างนั้นมีประโยชน์มากมาย ดังนี้

 

เพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้าง

คอนกรีตอัดแรงสามารถรับแรงดึงได้ดีกว่าคอนกรีตเสริมเหล็กธรรมดา เนื่องจากมีแรงอัดอยู่ภายในเนื้อคอนกรีตอยู่แล้ว เมื่อมีแรงภายนอกมากระทำ แรงอัดที่มีอยู่ก่อนจะช่วยเพิ่มความต้านทานแรงดึงที่เกิดขึ้นด้วย ทำให้โครงสร้างสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น โดยเฉพาะในโครงสร้างที่มีช่วงพาดยาว เช่น สะพาน หรือคานขนาดใหญ่

 

ลดการใช้วัสดุและลดต้นทุนการก่อสร้าง

ด้วยความสามารถในการรับแรงที่สูงขึ้น ทำให้สามารถลดขนาดของหน้าตัดโครงสร้างลงได้ ส่งผลให้ใช้วัสดุน้อยลง ประหยัดต้นทุนและระยะเวลาในการก่อสร้าง แต่ไม่ลดทอนความแข็งแรงของโครงสร้าง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทั้งความมั่นคงและความคุ้มค่า

 

ลดน้ำหนักของโครงสร้าง

การที่สามารถออกแบบให้มีหน้าตัดบางลง ทำให้น้ำหนักโดยรวมของโครงสร้างลดลง ส่งผลดีต่อฐานรากและโครงสร้างที่ไม่ต้องรองรับน้ำหนักที่มากจนเกินไป ลดความเสี่ยงในการทรุดตัวของอาคารในระยะยาว

 

เพิ่มความยืดหยุ่นในการออกแบบ

คอนกรีตอัดแรงช่วยให้วิศวกรและสถาปนิกมีอิสระทางความคิดในการออกแบบได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างที่มีช่วงพาดยาว หรือรูปทรงที่ซับซ้อนได้ ทำให้สามารถสร้างสรรค์อาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่มีเอกลักษณ์และตอบสนองความต้องการทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

 

เพิ่มอายุการใช้งานของโครงสร้าง

เนื่องจากคอนกรีตอัดแรงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแตกร้าวน้อยกว่าคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วไป จึงช่วยลดโอกาสที่น้ำและสารเคมีจะแทรกซึมเข้าไปทำลายเหล็กเสริมแรง ทำให้โครงสร้างมีความทนทานและอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมในระยะยาว

คอนกรีตอัดแรงช่วยให้สามารถสร้างโครงสร้างที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีรูปทรงที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้คอนกรีตอัดแรงที่เหมาะสมกับลักษณะงานจะช่วยให้โครงการก่อสร้างประสบความสำเร็จ มีความปลอดภัย และประหยัดต้นทุนในระยะยาว

 

สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาคอนกรีตคุณภาพดี ORC Premier ให้บริการคอนกรีตผสมเสร็จคุณภาพสูง ควบคุมการผลิตด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความเที่ยงตรงและได้มาตรฐาน พร้อมทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำและควบคุมการเทคอนกรีตอย่างถูกวิธี เพื่อให้โครงสร้างแข็งแรง ทนทาน ตั้งแต่ฐานราก อีกทั้งยังมีบริการให้เช่ารถคอนกรีต เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำเนินงานก่อสร้าง สนใจปรึกษาฟรี! โดยสอบถามเพิ่มเติมได้ผ่านช่องทางเหล่านี้

 

Tel: 061-558-5558

LINE: @ORCCONCRETE

Facebook: ORC คอนกรีต

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

  1. Advantages and Disadvantages of Prestressed Concrete. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 จาก https://civiltoday.com/civil-engineering-materials/concrete/226-advantages-and-disadvantages-of-prestressed-concrete
  2. Prestressed Concrete-Advantages and Disadvantages. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 จาก https://theconstructor.org/concrete/precast1/prestressed-concrete-advantages/3303/
  3. 5 Benefits Of Using Prestressed Concrete In Construction Projects. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 จาก https://almanaratain.com/5-benefits-of-using-prestressed-concrete-in-construction-projects/